นวัตกรรมผลงานของคนไทย

ประวัติ และ ผลงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี





"พิพิธภัณฑ์บ้านดำ"







ตั้งอยู่ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ได้แก่ อาคารสถาปัตยกรรมแบบกาแล กว่า 40 หลัง รวมถึงบ้านสถูปรูปทรงแปลกตา ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้เป็นเจ้าของ โดยตกแต่งภายในเน้นจัดแสดงผลงานศิลปะล้ำค่า อาจนับได้ถึงหมื่นๆ ชิ้น ทั้งงานฝีมือที่รุ่มรวยอารยะแบบสล่าเหนือ เช่น เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องเขินโบราณ เครื่องเงินล้ำค่า ฯลฯ ข้าวของจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ทิเบต กระทั่งยุโรป จนถึงบรรดาหนังสัตว์ป่านานาชนิด เช่น หนังหมี หนังควายป่า หนังเสือ มากมาย


บ้านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ตั้งอยู่ที่ 414 หมู่ที่ 13 ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57000 เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ ปิดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-17.00 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-9767-4444




ประวัติ อ.ถวัลย์ ดัชนี






นายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา หรือ ดัชนี นามสกุลปัจจุบัน) ได้ให้กำเนินบุตรชายคนสุดท้องที่ชื่อ นายถวัลย์ ดัชนี เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2482 ที่จังหวัดเชียงราย ของจำนวนพี่-น้อง ทั้ง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง , นายสมจิตต์ และนายวสันต์ ดัชนี ปัจจุบันอายุ 65 ปี
สมรสกับนางคำเอ้ย ลูกครึ่งไทย - มาเลเซีย มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ นายดอยธิเบศร์ ต่อมาสมรสกับ ทิพยชาติ วรรณกุล ชาวลพบุรี ไม่มีบุตร และอยู่ร่วมกันมาจนขณะนี้เป็นเวลาร่วม 20 ปี
นับแต่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย นายถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว
ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับคัดเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ.2500 นายถวัลย์ ได้เดินตามแนวทางของ ดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้เขามีพัฒนาการงาน
จากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressioninsm) แบบไทย จุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขา
นอกจากความสามารถที่มีพรสวรรค์ของเขาแล้ว นายถวัลย์ ยังจัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น ที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ เนื่องจากหากผู้เรียนรายใดมีความรู้ความสามารถไม่โดดเด่นอย่างแท้จริงแล้วจะได้รับเพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้แล้ว เขายังได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ให้ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลป อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ระหว่างศึกษาอยู่ที่แห่งนี้ผลงานสร้างสรรค์ของเขาได้รับการยอมรับและนิยมชมชอบในวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จนได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Men Show และการจัดแสดงกลุ่มอีกมากมายหลายครั้งทั้งในและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย เช่น


- นิทรรศการศิลปะของโรงเรียนเพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2497


-นิทรรศการการแสดงของนักเรียนเพาะช่างที่เด่นด้านจิตรกรรม ณ หอศิลป์แห่งชาติโตเกียว ญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2498


-นิทรรศการแสดงกลุ่มนักศึกษาภายหลังปริญญาตรี ของราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม ปี 2509 เป็นต้น


นอกจากการแสดงผลงานต่าง ๆ ที่มีมาตลอดแล้วการใช้ชีวิตตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของเขาหลังจบการศึกษาและระหว่างการศึกษางานด้านศิลปะ นายถวัลย์ ยังมีผลงานติดตั้งแสดงถาวรอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปสมัยใหม่ และสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการได้รับการกล่าวขานทางด้านผลงานและชื่อเสียงของเขา ผ่านสื่อภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เช่น


- ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องแรกโดยยูซิสแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2505 ภาพยนตร์สารคดีศิลปะร่วมสมัย ปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซ็น 2512 สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน มิวนิค เยอรมันนี


– ภาพยนตร์ สารคดี ศิลปวัฒนธรรมไทแลนด์พาโนรามา โดย บีบีซี อังกฤษ ปี พ.ศ. 2532 เรื่องราว การนำเสนอ พลังเนรมิต ความฉับพลันของสภาวะจิต ความขัดแย้งระหว่างอุปาทานขันธ์ สมมุติสัจจะและปรมัติสัจจ


- รายการชีพจรลงเท้า 3 ครั้ง หนึ่งในร้อย ที่นี่กรุงเทพ ศิลปวัฒนธรรมบันเทิง มาลัยเก้า-เกียรติยศ ตลอดจนรายการหลากหลายกับงานศิลปะ บทกวีรวมเล่มภาษาอังกฤษ โดย ถวัลย์ ดัชนี และเพื่อนทั้งสาม อดุล เปรมบุญ , ประพันธ์ ศรีสุตา , ผดุงศักดิ์ ขัมภรัตน์ ปี พ.ศ. 2512 ฯลฯ


และทางเอกสารสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศเผยแพร่ไปทั่วโลกอีกมากมาย เช่น
- ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรรมไทยสากลวิญญาณตะวันออก (พิมพ์ 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี) โดย กิลเบริ์ท บราวสัสโตน


- ภาพร่างเส้นใยวิญญาณ ถวัลย์ ดัชนี (ภาษาเยอรมัน) โดย อูลลิช ชาร์คอสสกี้


- งานจิตรกรรม งานแกะไม้ งานภาพลายเส้นของ ถวัลย์ ดัชนี พิมพ์ที่ อเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2509-2512 ยุคปลายสมัยศิลปากร – อัมสเตอร์ดัม


- หนังสืออ้างอิงชีวประวัติเล่มแรกของจิตรกรไทย ที่มีชีวิตในประวัติศาสตร์วงการศิลปะ ลายเส้น พุทธปรัชญานิกายหินยาน ทศชาติชาดก โดย ดร.เคล้าส์ เว้งค์


- ชีวิตและงานถวัลย์ ดัชนี ระหว่างปี 2505-2535 (ภาษาฝรั่งเศส) โดย คิลเบริ์ท ฯลฯ


เมื่อใดที่ผู้คนทั่วไปได้มองเห็น ภาพผู้ชายร่างใหญ่ ค่อนไปทางเจ้าเนื้อแต่งกายด้วยชุดพื้น

เมืองทางเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ และกระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับห้อยอยู่นั้น ทุกคนย่อมรู้ดีว่า นั่นคือ ภาพลักษณ์ของผู้ชายที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี ที่ค่านิยมไม่ยอมรับแฟชั่น หรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใด ๆ


โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย(แต่เวลานี้กินมาก) นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพย์ติดใด ๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน


นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ชอบศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติธรรมตามหลักมัชฌิมาปติปทา ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูปจึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะจนได้ชื่อว่า เป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากันในยุคปัจจุบัน


ส่วนหนึ่งของเวลาส่วนตัวเขายังทุ่มเทไปกับการฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านคำ ดอยนางแล” ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิด ให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้วยการจัดเป็น พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน บนพื้นที่ว่างกว่าร้อยไร่ ประกอบเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ 35 หลังและอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์อีกหลายหลัง สำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน


ซึ่งมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เขาใช้เวลาในการรวบรวมด้วยความตั้งใจนำมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจได้เข้าชมนานกว่า 20 ปี ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ของการสั่งสมประสบการณ์ ผลงานต่าง ๆ ของผู้ชายคนนี้ เขายังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม


มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชน รวมถึงการบริจาคเงินจำนวน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ด้วยการนำดอกผลจากกองทุนดังกล่าวสนับสนุนการศึกษาของสถานศึกษาที่เขาเกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา ในจังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน – นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ สถาบันละ 10 ทุน ตลอดมาจนปัจจุบัน


จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าวข้างต้น ของผู้ชายที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี แสดงให้เห็นได้ถึงความเป็นศิลปินทางด้าน “ช่างวาดรูป” ผู้มีพุทธิปัญญานำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์งานศิลปไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าวด้วยปัจเจกภาพส่วนตัว มีเนื้อหาสาระและท่วงทำนองมีที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของความเป็นไทยให้เห็นเกือบทุกชิ้นงาน


เป็นผู้นำศิลปะไทยเสนอต่อสายตาชาวโลกด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่แปลกเลยที่ ในปี พ.ศ. 2544 Fukuoka Asian Culture Prize Committee ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้รางวัล Art and Colture Prize แก่เขา และต่อมาประเทศไทยประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เขาเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2544


ดร.ถวัลย์ ดัชนี

เกิดเมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จังหวัดเชียงราย


สำเร็จการศึกษา - ปริญญาตรีบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม


มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี


- ปริญญาโท ด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง


- ปริญญาเอก ด้านอภิปรัชญา และสุนทรีย์ศาสตร์ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์


ผลงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี


ผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่ทรงพลัง ลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระ และท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยโดยมีผลงานแสดงเดี่ยว และกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศแถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกา จนสื่อมวลชนต่างประเทศสนใจชีวิต และงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี จัดทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมาย


ท่านเป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัล วัฒนธรรมแห่งเอเชีย เมืองฟุคุโอกะ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2544 (The 12th Fukuoka Asian Culture Prizes 2001)


และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ.2544


นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะด้วยการตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี สนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้ง ได้ใช้เวลานานกว่า 25 ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่บ้านดำ ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย สำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาศิลปะวัฒนธรรมของอนุชนรุ่นหลังสืบไป



ผลงานของอ.ถวัลย์ ดัชนี






















ข้อมูลจาก 49 ศิลปินไทยในแดนล้านนา


http://www.tourismchiangrai.com/cr/49Artists_Lanna/thawan.html