วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลและสถานที่ท่องเที่ยว อ.เมือง จังหวัดเชียงราย

อำเภอเมือง
• อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช อยู่ที่ห้าแยกพ่อขุน พ่อขุนเม็งรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๕ แห่งราชวงศ์ลัวะจังคราช เป็นโอรสของพญาลาวเม็ง และพระนางเทพคำขยาย หรือพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน พุทธศักราช ๑๗๘๒ เสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.๑๘๕๔ พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อ พ.ศ.๑๘๐๕ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์เม็งราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน
• กู่พระเจ้าเม็งราย ตั้งอยู่หน้าวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง กู่นี้เป็นอนุสาวรีย์สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุอัฐิของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่าพระเจ้าไชยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งราย เมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระเจ้าแสนภูราชโอรสขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้
• วัดพระสิงห์ ถนนท่าหลวง ใกล้ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่า เจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองกำแพงเพชร พระเจ้ากือนา ได้โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระเจ้ามหาพรหมทูลขอยืมพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงรายเพื่อหล่อจำลอง แต่เมื่อสิ้นบุญพระเจ้ากือนาและพระเจ้าแสนเมือง ราชนัดดาของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เจ้ามหาพรหมคิดจะชิงราชสมบัติ จึงยกกองทัพจากเชียงรายไปประชิดเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าแสนเมืองก็สามารถป้องกันเมืองได้อีก ทั้งยกทัพตีทัพเจ้ามหาพรหมมาถึงเชียงราย และครั้งนี้เองที่ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์คืนกลับไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่สืบมา วัดพระสิงห์แห่งนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช นอกจากนั้นบานประตูยังออกแบบโดย คุณถวัลย์ ดัชนี บอกเรื่องราวเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ แกะสลักโดยฝีมือช่างชาวเชียงราย โทร. ๐ ๕๓๗๔ ๕๐๓๘
• วัดพระแก้ว ถนนไตรรัตน์ เป็นวัดที่ค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๗ ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันชาวเชียงรายได้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหม่ขึ้นแทน เรียกว่าพระหยกเชียงราย หรือ พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล ซึ่งสร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ ครบ ๙๐ พรรษา โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๘๕๓๓
• วัดพระธาตุดอยทอง ถนนอาจอำนวย หลังศาลากลางจังหวัด บนดอยจอมทองริมฝั่งแม่น้ำกก ตำนานกล่าวว่าพระยาเรือนแก้วผู้ครองนครไชยนารายณ์ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๓ ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวทำให้พระธาตุเจดีย์องค์เดิมพังทลายลงมา เมื่อพ่อขุนเม็งรายทรงพบชัยภูมิที่สร้างเมืองเชียงรายจากดอยจอมทอง จึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง เจดีย์องค์ปัจจุบันที่เห็นได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๖๐๕๕
• วัดร่องขุ่น บ้านร่องขุ่น ริมถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ ๘๑๖ ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ พระอุโบสถตกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาว เป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาค มีงวงงาดูแปลกตา น่าสนใจมาก โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ โทร./ โทรสาร ๐ ๕๓๖๗ ๓๕๗๙
• สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ เชียงราย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ ๘ กิโลเมตร บนเส้นทางเชียงราย-แม่จัน เข้าไปทางด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ภายในสวนมีทัศนียภาพสวยงาม บรรยากาศร่มรื่น มีหนองบัวกว้างถึง ๒๒๓ ไร่ เป็นสถานที่น่าพักผ่อนหย่อนใจ เพราะน้ำในหนองบัวใสเย็นและเต็มเปี่ยมตลอดปี บนพื้นที่รอบหนองบัวเป็นที่ตั้งของพลับพลา ศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนและมีสวนปาล์ม สวนไผ่อยู่บนที่ลาดเนินเขาติดกับสวนสมเด็จฯ ยังเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งให้บริการดูแลรักษาสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านล้านนา โทร.
๐ ๕๓๗๐ ๓๓๘๘
• ศูนย์ภาษาวัฒนธรรมจีนสิรินธร ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีให้เป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ศูนย์ฯ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย และในภูมิภาครวมทั้งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศจีน-ไทย ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนแท้มีสวนน้ำตรงกลางแบบซูโจว ออกแบบโดยสถาปนิกชาวจีนจากมณฑลเสฉวน วัสดุกระเบื้องหลังคา รูปปั้นประดับหลังคา สิงโตแกะสลักด้วยหินอ่อนเฝ้าหน้าศูนย์นำมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนประเทศจีนและมีห้องสมุดให้ค้นคว้า อัตราค่าเข้าชม ๑๐ บาท โทร. ๐ ๕๓๙๑ ๗๐๙๓, ๐ ๕๓๙๑ ๗๐๙๗ www.mfu.ac.th
• น้ำตกขุนกรณ์ อยู่บนเทือกเขาดอยช้าง ตำบลแม่กรณ์ ในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๑๑ ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไป ๑๑ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๘ หรือไปตามทางหลวงหมายเลข ๑ สายเชียงราย-พะเยา ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีป้ายแยกขวาไปอีก ๑๗ กิโลเมตร ถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ แล้วเดินเท้าไปยังตัวน้ำตกอีกประมาณ ๓๐ นาที ระยะทาง ๑,๒๐๐ เมตร น้ำตกขุนกรณ์เป็นน้ำตกสวยที่สูงที่สุดของจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตกตาดหมอก” มีความสูงถึง ๗๐ เมตร สองข้างทางเดินเข้าสู่น้ำตกเป็นป่าเขาธรรมชาติร่มรื่น อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก โทร. ๐ ๕๓๖๐ ๙๒๓๘
• ล่องเรือแม่น้ำกก แม่น้ำกกเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากบ้านท่าตอนผ่านตัวเมืองเชียงราย มีความยาวรวมทั้งสิ้น ๑๓๐ กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือจากท่าเรือริมแม่น้ำในตัวเมือง (ท่าเรือซีอาร์) เพื่อเที่ยวชมทัศนียภาพของแม่น้ำกก สองฟากฝั่งเป็นป่าเขาที่สวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ระหว่างทางยังสามารถแวะชมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น อีก้อ ลีซอ หรือจะแวะบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเพื่อนั่งช้างเที่ยวป่ารอบบริเวณนั้นก็ได้ ในราคา ๓๐ นาที ๑๕๐ บาท/คน จุดท่องเที่ยวจากเชียงราย-ท่าตอน บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร, วนอุทยานโป่งน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยม มีบ่อและห้องอาบน้ำแร่ ที่กางเต็นท์, บ้านมูเซอผามูบและมูเซอจะคือ, บ้านกะเหรี่ยงเมืองงาม, ไทยใหญ่บ้านใหม่, อาข่าบ้านแม่สลัก, พระธาตุสบฝาง และบ้านท่าตอนอัตราค่าเช่าเรือเหมาลำ ๘๐๐ บาท สามารถนั่งได้ ๘ คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง เรือท่องเที่ยว ท่าเรือซีอาร์ โทร. ๐ ๕๓๗๕ ๐๐๐๙ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๖.๐๐ น. ท่าเรือท่าตอนเชียงใหม่ โทร. ๐ ๕๓๓๗ ๓๒๒๔
• พิพิธภัณฑ์อูบคำ เลขที่ ๘๑/๑ ถนนหน้าค่าย ตำบลรอบเวียง ติดกับตลาดสดเด่นห้า รวบรวมเครื่องใช้ในราชสำนักล้านนา เครื่องใช้ในราชสำนักคุ้มเจ้าแพร่ เครื่องใช้ในราชสำนักคุ้มเจ้าเชียงใหม่อายุประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ ปี ผ้าโบราณอายุ ๑๒๐ ปี ซิ่นไหมคำจากราชสำนักมัณฑเลย์ และที่สำคัญไม่ควรพลาดชมคือ บัลลังก์กษัตริย์เป็นทองอร่าม ฉลองพระองค์ทองคำแท้ เครื่องประดับเงิน เป็นต้น อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต โดยมีอาจารย์จุลศักดิ์ สุริยไชย เป็นผู้รวบรวม เปิดทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก ๕๐ บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท พิพิธภัณฑ์นี้เป็นความตั้งใจของผู้รวบรวมที่จะเก็บของมีค่าสมัยล้านนาที่ไม่ได้อยู่ในแผ่นดินไทยให้กลับมาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย และเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาถึงความเป็นมาและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านนาในอดีต โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๓๓๔๙
• ไร่แม่ฟ้าหลวง อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์อูปคำไปอีก ๑ กิโลเมตร เดิมใช้จัดงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและสวนไม้ดอกไม้หอมหายากนานาชนิด มีหอคำซึ่งเป็นอาคารไม้สักที่รวบรวมสัตภัณฑ์หรือเชิงเทียนโบราณและเป็นที่ประดิษฐานพระพราโต้ พระไม้โบราณ เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม คนไทย ๑๕๐ บาท ต่างชาติ ๒๐๐ บาท โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๑๙๖๘, ๐ ๕๓๗๑ ๖๖๐๕-๗ โทรสาร ๐ ๕๓๗๑ ๒๔๒๙
• พิพิธภัณฑ์ชาวเขา ถนนธนาลัย ดำเนินงานโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนจังหวัดเชียงราย จัดแสดงและฉายสไลด์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัตถุสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ ชุดแต่งกายประจำเผ่า รวมทั้งข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับชาวไทยภูเขา ๖ เผ่า คือ อาข่า ลีซอ กะเหรี่ยง มูเซอ เย้า และม้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๕๐ บาท โทร. ๐ ๕๓๗๔ ๐๐๘๘, ๐ ๕๓๗๑ ๙๑๖๗
• บ่อน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยมและบ่อน้ำร้อนผาเสริฐ ไปทางถนนหน้าค่าย สี่แยกเด่นห้า อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๒๐ กิโลเมตร โดยบ่อน้ำร้อนผาเสริฐตั้งอยู่ก่อนบ่อน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยมประมาณ ๑ กม. บ่อน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยมและบ่อน้ำร้อนผาเสริฐอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก บ่อน้ำร้อนทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่เกิดจากความร้อนใต้พิภพที่มีน้ำร้อนผุดขึ้นมาตลอดเวลา เป็นน้ำพุร้อนที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก อุณหภูมิของน้ำประมาณ ๖๗ องศาเซลเซียสและมีองค์ประกอบของแร่ธาตุอยู่หลายชนิด บริเวณโดยรอบมีทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำกกมีสถานที่กางเต็นท์พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้างแรม โดยบ่อน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยมมีห้องอาบ/แช่น้ำร้อน ๓๐ ห้อง มีสระอาบและสถานที่กางเต็นท์ โทร.๐ ๕๓๖๐ ๙๒๓๘,๐ ๕๓๖๐ ๙๑๑๗ บ่อน้ำร้อนผาเสริฐมีห้องอาบ/แช่น้ำร้อน สระอาบและสถานที่กางเต็นท์ บริหารงานโดย อบต.ดอยฮาง โทร.๐ ๕๓๗๑ ๖๔๓๖,๐ ๕๓๗๑ ๖๓๕๘ www.doihang.com
• น้ำพุร้อนโป่งพระบาท จากตัวเมืองประมาณ ๗ กม. ถึง กม.ที่ ๘๓๖-๘๓๗ ถ.พหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าไปซอยข้างตลาดบ้านดู่อีก ๓ กม. บริการห้องอาบ/แช่น้ำพุร้อน จำนวน ๑๐ ห้อง ราคาคนละ ๒๐ บาท บริหารงานโดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดู่ โทร.๐ ๕๓๗๐ ๓๒๖๒ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีน้ำตกโป่งพระบาท ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานโป่งพระบาท เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นแก่งหิน มีความลาดชันไม่มากนัก มีลักษณะการไหลที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ลงมา ภายใต้สภาพอากาศอันร่มรื่น สถานที่โดยรอบประกอบด้วยพรรณไม้สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนและเที่ยวชมความงามทางธรรมชาติ
• ถ้ำผาตอง บ้านถ้ำผาตอง ตำบลท่าสุด จากตัวเมืองเชียงรายไปตามถนนเชียงราย-แม่จัน ๑๙ กิโลเมตร เลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ ๘๔๘ หน้าวัดแม่ข้าวต้มท่าสุด ไปอีก ๓ กิโลเมตร นอกจากถ้ำผาตองแล้วยังมีถ้ำสายธาร ถ้ำแม่ครัว จุดน่าสนใจคือ กลุ่มแกะสลักไม้กระบวยตักน้ำกะลามะพร้าว มีด้ามไม้สักแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ ที่แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนา

เชียงรายปัจจุบัน

เชียงรายปัจจุบัน

1. สภาพภูมิศาสตร์

1.1 ที่ตั้ง
จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19 องศาเหนือ ถึง
20 องศา 30 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 15 ลิปดา ถึง 100 องศา 45 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 785 กิโลเมตร

1.2 อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ประเทศสหภาพพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดพะเยาและลำปาง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศสหภาพพม่าและจังหวัดเชียงใหม่

แนวเขตชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า ด้านอำเภอแม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง และเชียงแสน รวม 130 กิโลเมตร แยกเป็นแนวภูเขา 100 กิโลเมตร แนวแม่น้ำสาย 10 กิโลเมตร และแนวแม่น้ำรวก 20 กิโลเมตร
แนวเขตชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีระยะทาง 180 กิโลเมตร โดยเป็นแนวแม่น้ำโขง 90 กิโลเมตร และแนวภูเขา 94 กิโลเมตร

1.3 สภาพภูมิประเทศ
เชียงรายมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงในทวีปตอนเหนือ (North Continental Highland) มีพื้นราบสูงเป็นหย่อมๆ ในเขตอำเภอแม่สรวย เวียงป่าเป้า และเชียงของ บริเวณเทือกเขาจะมีความสูงประมาณ 1,500 - 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณส่วนที่ราบตามลุ่มแม่น้ำสำคัญในตอนกลางของพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพาน เมือง แม่จัน แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ มีความสูงประมาณ 410 - 580 เมตร จากระดับน้ำทะเล

1.4 สภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิ ในห้วงปี 2544 – 2548 จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 33.1
องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38.8 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2544 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2546
ฝน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 1,768 มิลลิเมตร มากที่สุดในปี 2544 จำนวน 2,287.60 มิลลิเมตรน้อยที่สุดในปี 2546 จำนวน 1,404.10 มิลลิเมตร จำนวนวันที่มีฝนตกเฉลี่ย 143 วันต่อปี
ฤดูหนาว (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 8.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2544

1.5 ป่าไม้
พื้นที่จังหวัดเชียงรายมีทั้งสิ้น 11,678.369 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,298,981 ไร่
ในปี 2542 มีพื้นที่ป่าไม้จำนวน 2,365,967 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.42 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ป่าไม้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1.5.1 อุทยานแห่งชาติ (National Park) มีอยู่ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง เนื้อที่ 731,250 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอพาน แม่สรวย เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อำเภอวังเหนือ อำเภองาว จังหวัดลำปาง อุทยานแห่งชาติขุนแจ มีเนื้อที่ 168,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อุทยานแห่งชาติภูซาง เนื้อที่ 178,050 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อำเภอเชียงคำและกิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา อุทยานแห่งชาติแม่ปืม มีเนื้อที่ 227,312 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอพาน อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย, อำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก มีเนื้อที่ 467,185 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ลาว อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
1.5.2 วนอุทยาน (Forest Park) เป็นแหล่งธรรมชาติที่รัฐจัดไว้ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
ของประชาชน และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ในจังหวัดเชียงรายมีวนอุทยานทั้งหมด 10 แห่ง คือ

1. วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยนางนอน ท้องที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
2. วนอุทยานดอยหัวแม่คำ มีเนื้อที่ 3,500 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำแม่คำ
ป่าน้ำแม่สลอง และป่าน้ำแม่จันฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
3. วนอุทยานน้ำตำตาดควัน มีเนื้อที่ 2,100 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยสัก และป่าแม่กกฝั่งขวา และป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยหลวง ป่าน้ำยาว และป่าน้ำซ้อ ท้องที่อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
4. วนอุทยานน้ำตกแม่โท มีเนื้อที่ 4,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวง และป่าห้วยโป่งเหม็น ท้องที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
5. วนอุทยานภูชี้ฟ้า มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่อิงฝั่งขวา และป่าแม่งาว ท้องที่อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
6. วนอุทยานสันผาพญาไพร มีเนื้อที่ 3,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำแม่คำ ป่าน้ำแม่สลอง และป่าน้ำแม่จันฝั่งซ้าย ท้องที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
7. วนอุทยานน้ำตกวังธารทอง มีเนื้อที่ 8,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวา ท้องที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
8. วนอุทยานดอยพระบาท มีเนื้อที่ 3,000 ไร่ อยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยสัก และป่าแม่กกฝั่งขวา ท้องที่กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
9. วนอุทยานน้ำตกห้วยแม่สัก มีเนื้อที่ 2,800 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยสัก และป่าแม่กกฝั่งขวา ท้องที่กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
10. วนอุทยานพญาพิภักดิ์ มีเนื้อที่ 3,750 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าป่าแดง และป่าห้วยป่าตาล และป่าห้วยไคร้ ท้องที่อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย

1.5.3 สวนรุกชาติ (Arboretum) จังหวัดเชียงรายมีสวนรุกชาติเพียงแห่งเดียว คือ สวนรุกชาติโป่งสลี อำเภอเมือง มีพื้นที่ 668.75 ไร่ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้สักขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นป่าเดิมที่เหลืออยู่และมีการปลูกต้นไม้อื่นๆ แทรกบ้าง
1.5.4 ป่าสงวนแห่งชาติ (National Reserved Forest) จังหวัดเชียงรายมีป่าสงวนทั้งหมด 30 แห่ง
มีพื้นที่รวม 4,485,966 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 61.46 ของพื้นที่จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ จำนวน 3,525,896 ไร่ พื้นที่มอบ สปก. จำนวน 960,070 ไร่ แยกออกเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 513,683 ไร่ ป่าเพื่อการเกษตร 425,832 ไร่ และพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ 20,555 ไร่
1.5.5 ป่าชุมชน (Community Forest) ป่าชุมชนเป็นป่าธรรมชาติที่ชาวบ้านได้ช่วยกันป้องกันรักษาเอาไว้สำหรับเป็นแหล่งซับน้ำและใช้สอย ปัจจุบันมีการสร้างป่าชุมชนขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์ของชุมชน
1.5.6 เขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีจำนวน 1 แห่ง คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย อำเภอเชียงแสน มีพื้นที่ 2,711 ไร่

1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งแร่ที่พบในจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย
ทังสเตน แร่ทังสเตนเป็นแร่ที่พบในเทือกเขาด้านตะวันตกของจังหวัด ในเขตอำเภอแม่สรวย และเวียงป่าเป้า ซึ่งอาจเกิดเป็นแหล่งแร่อิสระเช่นซีไลท์และวุลแฟรม หรืออาจเกิดรวมกับแร่อื่น ๆ เช่น ดีบุก และพลวง
ดีบุกและพลวง แร่ทั้งสองประเภทเป็นแร่ในกลุ่มโลหะพื้นฐาน อาจเกิดร่วมกับแร่ทังสเตนมีอยู่มากในเทือกเขาด้านตะวันตก เช่นกัน แต่มีปริมาณและการผลิตน้อยกว่าทังสเตน
แมงกานีส เป็นแหล่งแร่ที่มีขนาดเล็ก เคยมีการผลิตในเขตอำเภอเทิง ปัจจุบันมีแปลงประทาน
ในเขตอำเภอพญาเม็งราย แต่ไม่มีการผลิต
ไพโรฟิลไลต์ และกัลก์ เป็นแร่ที่พบกระจายในเขตอำเภอเทิงและเชียงของ แต่ไม่มีการผลิต
ดินขาว และบอลเคลย์ เป็นแร่ที่พบกระจายในอำเภอเวียงป่าเป้า มีผลผลิตจำนวนน้อย ปัจจุบัน
ยังคงมีการผลิตบอลเคลย์จากเหมืองเพียงแห่งเดียว
หินปูนอุตสาหกรรม เป็นหินปูนที่ใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ใช้ทำปูนขาวสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง และอุตสาหกรรมน้ำตาล มีการผลิตหินปูนในเขตอำเภอเมืองและเวียงชัย

2. การปกครองและการเมือง

2.1 หน่วยการปกครอง
จังหวัดเชียงรายแบ่งหน่วยปกครองออกเป็น
- ส่วนราชการสังกัดส่วนภูมิภาค 27 หน่วยงาน
- ส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง 85 หน่วยงาน

ประวัติพ่อขุนเม็งรายมหาราช

ประวัติพ่อขุนเม็งรายมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงราย
พ่อขุนเม็งราย
เป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเมงแห่งราชวงศ์ ลั๊วจังกราชผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือพระนางเทพคำขยาย ราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุนเอกศกจุลศักราช 601 ตรงกับพุทธศักราช 1781 เมื่อมีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระบิดาได้สู่ขอ ธิดาเจ้าเมืองเชียงเรืองมาเป็นคู่อภิเษกแล้วโปรดให้เมงรายเป็นมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าลาวเมงสวรรคตในปี พ.ศ. 1802 เมงรายราชโอรสจึงได้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางสืบแทน ในขณะที่มีพระชนม์ 21 พรรษา
ครั้งนั้น เมืองเล็กเมืองน้อยต่าง ๆ ในแคว้นลานนาเกิดแตกความสามัคคี ต่างตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ทั้ง ๆ ที่เจ้าเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นพระญาติของพระองค์ คือสืบเชื้อสายมาจาก ลั๊วจักราชด้วยกัน พ่อขุนเม็งรายจึงมีพระดำริที่จะรวบรวมเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎร์ซึ่งต่างก็เป็นคนไทยดังนั้นจึงมีใบบอกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระให้มาอ่อนน้อม เมืองใดแข็งข้อก็ส่งกองทัพไปปราบ ตีได้เมืองมอบเป็นเมืองแรก ต่อมาได้เมืองไร เมืองเชียงคำ ให้ถอดเจ้าผู้ตรองนครออกแล้วแต่งตั้งขุนนางอยู่รั้งเมืองแทน แต่นั้นมาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายต่างพากันมาสวามิภักดิ์โดยสิ้นเชิง

เมื่อรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว ก็คิดจะยกทัพไปปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ต่อไป ในปี พ.ศ. 1805 ขณะยกทัพไปถึงเมืองลาวกู่เต้าและประทับบอยู่ที่นั่น เผอิญช้างทรงของพระองค์ซึ่งทอดไว้ที่ป่าหัวดอยทางทิศตะวันออก หลุดพลัดไป พระองค์จึงเสด็จตามรอยช้างไปจนถึงดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกก ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้โปรดให้สร้างพระนครขึ้น โดยก่อกำแพงโอบรอบ เอาดอยจอมทองไว้ภายในขนานนามว่า เมืองเชียงราย แล้วให้ย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาตั้งอยู่ที่เชียงรายนับแต่นั้นมา
ในปี พ.ศ. 1819 พ่อขุนเมงรายได้ยกกองทัพไปประชิดเมืองพะเยา พ่อขุนงำเมือง ผู้ครองเมืองพะเยาออกมารับเสด็จด้วยไมตรีและยกตำบลบ้านปากน้ำให้แก่พ่อขุนเมงรายแล้วปฏิญาณเป็นมิตรกัน ต่อมาอีกราว 4 ปี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนงำเมือง และพ่อขุนเมงราย ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นพระสหายกัน โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์ผสมกับน้ำสัตย์เสวยทั้งสามพระองค์สัญญาว่าจะไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิต
และในปี พ.ศ. 1834 พ่อขุนเม็งรายเสด็จไปสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ ใช้เวลาสร้างนาน 5 ปี พ.ศ. 1839 จึงเสด็จและสถาปนานครแห่งนี้ว่า เชียงใหม่
พ่อขุนเม็งรายทรงประสูติมาเพื่อเป็นผู้กอบกู้และรวบรวมชาวไทยให้ป็นกลุ่มก้อน เพื่อระงับครามทุกข์เข็ญต่าง ๆ ในแผ่นดินและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในแคว้นลานนาเป็นอเนกประการ พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์เท่าที่ประมวลได้โดยสังเขปมีดังนั้น

1. ทรงสร้างเมืองเอกในแว่นแคว้นถึง 3 เมืองได้แก่
เมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 1805
เมืองกุมกาม (ปัจจุบันคืออำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่) เมื่อ พ.ศ. 1829
เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1834
นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทรงบูรณะเมืองหิรัญนครเงินยาง และในปี พ.ศ.1811 ได้บูรณะเมืองฝางเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมไพร่พลของพระองค์ (ซึ่งแต่เดิมเมืองฝางตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองหิรัญนครเงินยางมาก่อน) และโปรดให้ขุนอ้ายเครือคำลก หรือขุนเครื่อง ราชโอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองฝาง
2. ทรงแผ่พระเดชาในทางการรบ กล่าวคือหลังจากได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำได้แล้ว ในปี พ.ศ. 1824 ตีเมืองหริภุญชัยจากพระยายีบา กษัตริย์ขอม พระยายีบาหลบหนีไปอยู่กับพระเบิกที่นครเขลางค์พ.ศ. 1828 พระยายีบาและพระยาเบิกยกทัพขอมมาเพื่อตีเมืองหริภุญชัยคืน พ่อขุนเมงรายจึงทรงแต่พระโอรสคือ ขุนคราม ยกทัพออกไปต้านทาน ได้รบกับพระเบิก และจับพระยาเบิกสำเร็จโทษ พระยายีบารู้ข่าวว่าเสียบุตรจึงทิ้งเมืองเขลางค์หนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลก เจ้าขุนครามจึงได้เมืองเขลางค์อีกเมืองหนึ่งนับว่าดินแดนภาคเหนือทั้งหมดพ่อขุนเมงรายได้ครอบครองโดยทั่วอาณาจักรลานนาในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างไกลดังนี้
ทิศเหนือ จด สิบสองปันนา
ทิศใต้ จด อาณาจักรสุโขทัย
ทิศตะวันออก จด แคว้นลาว
ทิศตะวันตก จด แม่น้ำสาละวิน
พ.ศ. 1829 ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีพระเจ้าหงสาวดีเจงพยุเจง เกรงพระบารมีจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นไมตรีโดยยกพระราชธิดาพระนามว่านางปายโค (ตะละแม่ศรี) ให้เป็นบาทบริจาริกาแด่พ่อขุนเม็งราย
พ.ศ. 1832 ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระเจ้าอังวะให้ราชบุตรนำเครื่องบรรณาการมาต้อนรับขอเป็นไมตรี
3. ทรงนำความเจริญในด้านศิลปกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม
มาสู่แคว้นลานนา โดยเมื่อครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระองค์ได้นำช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างทอง และช่างเหล็ก ชาวพุกามเข้ามาฝึกสอนขาวลานนาไทย จึงเข้าใจว่าศิลปต่าง ๆ ของพุกามที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบันน่าจะเริ่มมาแต่นั้นเมื่อจำนวนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์มีมากขึ้น ก็ทรงจัดหาทำเลที่เหมาะสมในการเกษตรและการค้าเพื่อให้มีอาชีพทั่วหน้า
4. ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถและประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง พ่อขุนเมงรายทรงเลื่อมในและศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและทรงนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครองราษฎรของพระองค์ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมีศีลธรรมอันดีมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี แก่คนทั่ไปซึ่งเป็นมรดกด้านคุณธรรมที่ตกทอดถึงลูกหลานชาวลานนา จนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบผู้แกล้วกล้า แต่การใดที่เป็นทางนำไปสู่ความหายนะเป็นเหตุให้เสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน พระองค์จะทรงหลีกเลี่ยง ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงรับไมตรีจากเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ และการกระทำสัตย์ปฏิญาณระหว่างสามกษัตริย์ดังกล่าว
พระปรีชาสามารถในด้านการปกครองอีกเรื่องหนึ่งได้แก่ การวางระเบียบการปกครองหรือกฎหมายที่ทรงตามขึ้นไว้เป็นพระธรรมศาสตร์ ใช้ในการปกครองแผ่นดิน เรียกว่า กฎหมายมังรายศาสตร์ เพื่อให้ลูกขุนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจรณาในการพิพากษาผู้กระทำผิดสมควรแก่โทษานุโทษโดยมิให้เลือกเห็นแก่หน้าว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย หัวหมู่ หรือไพร่น้อยเมื่อกระทำผิดย่อมต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน



พ่อขุนเม็งรายสวรรคตขณะเสด็จประพาสกลางเมืองเชียงใหม่ โดยถูกอสุนีบาตตกต้องพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 1860 รวมพระชนม์มายุได้ 80 พรรษา พระยาชัยสงครามพระราชโอรสได้ครองเมืองเชียงรายต่อมา
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงประกอบนานัปการ ด้วยพระอัจฉริยะและด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่ออาณาประชาราษฎรตลอดพระชนม์ชีพ จึงได้รับเทิดพระนามให้ทรงเป็นมหาราชอีกพระองค์หนึ่งที่คนทั่วไปรู้นักในพระนามพ่อขุนเม็งรายมหาราช มหาราชแห่งแคว้นลานนา…ผู้สร้างเมืองเชียงราย

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 053)
งานข่าวสารการท่องเที่ยว ททท. 02-694-1222 ต่อ 8 , 02-282-9773
ททท.ภาคเหนือ เขต 2 053-717-433 , 053-744-674-5
สำนักงานจังหวัด 053-711-632
ที่ว่าการอำเภอ 053-752-177 , 053-711-288
ประชาสัมพันธ์จังหวัด 053-711-870
สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย 053-601-299
หน่วยบริการข้อมูลทางหลวง 053-714-440
ตำรวจท่องเที่ยว 053-717-779 , 1155
สภ.อ.เชียงราย 053-711-444 , 053-711-588
สภ.อ.ขุนตาล 053-657-031-4
สภ.อ.เชียงของ 053-791-426
สภ.อ.เชียงแสน 053-777-111 , 053-777-191
สภ.กิ่ง อ.ดอยหลวง 053-790-091 , 053-790-094
สภ.อ.เทิง 053-795-403
สภ.อ.ป่าแดด 053-761-012 , 053-761-191
สภ.อ.พญาเม็งราย 053-799-113
สภ.อ.พาน 053-721-515 , 053-721-191
สภ.อ.แม่ขะจาน 053-789-508
สภ.อ.แม่จัน 053-771-444
สภ.อ.แม่ฟ้าหลวง 053-767-109
สภ.อ.แม่ลาว 053-718-138
สภ.อ.แม่สรวย 053-786-004
สภ.อ.แม่สาย 053-731-444
สภ.อ.เวียงแก่น 053-608-081 , 053-608-191
สภ.อ.เวียงชัย 053-769-236-7
สภ.กิ่ง อ.เวียงเชียงรุ้ง 053-953-152-3
สภ.อ.เวียงป่าเป้า 053-781-466
รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 053-711-300
รพ.เกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ (อ.เมือง) 053-717-499
รพ.ค่างเม็งรายมหาราช (อ.เมือง) 053-717-649-50
รพ.โอเวอร์บรู๊ค (อ.เมือง) 053-711-366 , 053-715-830-3
รพ.ขุนตาล 053-606-221-2
รพ.เชียงของ 053-791-007
รพ.เชียงแสน 053-777-017
รพ.เทิง 053-795-259
รพ.ป่าแดด 053-654-479-80
รพ.พญาเม็งราย 053-799-033
รพ.พาน 053-721-345
รพ.แม่จัน 053-771-300
รพ.แม่ฟ้าหลวง 053-765-402
รพ.แม่ลาว 053-666-035
รพ.แม่สรวย 053-786-017 , 053-786-063
รพ.แม่สาย 053-731-300
รพ.เวียงแก่น 053-608-153
รพ.เวียงเชียงรุ้ง 053-953-137-9
รพ.เวียงป่าเป้า 053-648-815
รพ.สมเด็จพระญาณสังวร (อ.เวียงชัย) 053-768-750-2

เชียงรายแต่ละยุค

เชียงรายแต่ละยุค
รัชกาลที่ 5 พระองค์เชือง (ราชโอรสพระเจ้ามังรายนราช ครองเมืองโยนกนครหลวงต่อมา)ส่วนโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้ามังรายนราช มีพระนามว่า พระองค์ไชยนารายณ์ซึ่งเป็นพระองค์น้อง ได้ไปสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลดอนมูล ริมแม่น้ำลาว (น้ำกาหลง) เรียกว่าเมืองไชยนารายณ์
พระองค์ไชยนารายณ์ ได้ครองเมืองไชยนารายณ์ และมีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ต่อมาอีกหลายพระองค์ จนถึงองค์ที่ 27 มีพระนามว่า พระองค์พังคราช ชาติไทยได้อ่อนกำลังลง ขอมซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุมงคเสลา ได้ยกทัพเข้าตีเมืองโยนกนาคนคร พระองค์พังคราชหนีไปอยู่เวียงสีทวง แต่นั้นมาไทยก็เป็นเมือง
ขึ้นของขอมเรื่อยมา ใน พ.ศ. 1461 พระมเหสีก็ได้ประสูติพระโอรส มีพระนามว่า เจ้าทุกขิตกุมาร และต่อมา พ.ศ. 1436 พระมเหสีก็ประสูติเจ้าพรหมกุมารอีกพระองค์หนึ่งครั้งเจ้าพรหมกุมารมีพระชนมายุ 17 พรรษาทรงแกล้วกล้าในการรบพุ่ง อย่างยิ่ง ได้ขับไล่ขอมจนสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 1479แล้วเชิญพระราชบิดาไปครองเมืองโยนกนาคนครต่อไป เจ้าพรหมกุมารตีได้เมืองอุมงคเสลาซึ่งมีอำนาจร่วม 500 ปีแตก ขับไล่ขอมจนถึงเมืองหริภุญไชย และเมืองกำแพงเพชรจนหมดสิ้นเชื้อชาติขอมในอาณาจักรโยนก พระองค์สร้างเมืองอุมงคเสลาขึ้นใหม่ ขนานนามว่า เมืองไชยปราการ ในปี พ.ศ. 1479 นั้นเอง

อนึ่ง เมืองโยนกนาคนครก็เปลี่ยนนามใหม่ว่า เวียงไชยบุรี เพื่อระลึกถึงชัยชนะของพระองค์
พระเจ้าพรหมนครองเมืองไชยปราการต่อมา เสด็จสวรรคต พ.ศ. 1582 ก็ได้เสียเมืองให้แก่ขุนเสือขวัญฟ้า (บางฉบับก็ว่าพระยาสุธรรมวดี) แม้กษัตริย์ที่เมืองนครไชยบุรีและนครไชยนารายณ์จะยกทัพมาช่วยก็สู้ข้าศึกไม่ได้ พระเจ้าไชยศิริจึงรับสั่งให้เผาเมือง แล้วอพยพผู้คนพลเมืองหนีมาทางใต้ ไปตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทองเพื่อตั้งตัวต่อไป
ยังมีกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ลาวจก หรือลาวจง ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จังกราช (คำว่า ลว เป็นชื่อราชวงศ์ ไม่ใช่ลัวะหรือละว้าซึ่งเป็นชื่อชาวป่าชาวเขา) ซึ่งครองเมืองเชียงลาว (แคว้นจก) ได้ขยายอำนาจมาจนถึงเมืองเงินยาง จนรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้วได้ขนานนามเมืองว่า หิรัญนครเงินยาง และมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นสังเขปประวัติความเป็นมาก่อนสร้างเมืองเชียงราย นับเป็นประวัติความเป็นมาของชาติไทยในดินแดนภาคเหนืออันมีนครโยนกเป็นราชธานีตามการศึกษาจากตำนานพื้นเมือง

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบางยุคบางสมัยในดินแดนเหล่านี้ บางครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนกันไปทั้งทางด้านสถานที่หรือด้านของเวลา จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปอย่างชัดเจนว่าหลักฐานใดถูกต้อง สำหรับอาณาจักรโบราณและเมืองต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ที่ปรากฏในตำนานหรือพงศาวดารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น พอจะแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้
1. ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
2. ยุคหิรัญนครเงินยาง
3. ยุคเชียงราย (มังราย)
4. ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต
ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน

เรื่องราวของอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน (ช้างแส่งก็เรียก) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโยนกนครราชธานีศรีช้างแสน หรือเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินครนั้น เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวถึงมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า เทวกาละ ครองราชย์สมบัติเป็นใหญ่แก่ไทยทั้งหลายในเมืองนครไทยเทศ อันมีเมืองราชคหะ (ราชคฤห์) เป็นนครหลวงมหากษัตริย์พระองค์นั้นมีราชโอรส 30 พระองค์ ราชธิดา 30 พระองค์ รวมทั้งหมด 60 พระองค์ ราชโอรสองค์แรกมีพระนามว่า พิมพิสารราชกุมาร องค์ที่สองมีพระนามว่า สิงหนวัติกุมาร (บางตำราเป็นสิงหนติกุมาร และเพี้ยนไปเป็น สีหนติกุมาร หรือศรีหนติกุมาร ก็มี) ด้วยเหตุว่ามีลักษณะและกำลังดุจราชสีห์นั่นเอง

เมื่อนั้น มหากษัตริย์ผู้เป็นพ่อได้แบ่งราชสมบัติให้แก่ราชโอรสและธิดาทั้ง 60 พระองค์แล้วได้แต่งตั้งให้เจ้าพิมพิสารโอรสองค์แรกเป็นอุปราชา และให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาผู้หนึ่งให้อยู่ในเมืองราชคฤห์นครหลวง ส่วนโอรสและราชธิดา 29 คู่นั้น ให้จับคู่กันแล้วแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเมืองอยู่ตามที่ต่าง ๆ
ส่วนเจ้าสิงหนวัติกุมารโอรสที่สองกับน้องหญิงผู้หนึ่งได้แบ่งเอาราชสมบัติพร้อมไพร่พลแสนหนึ่ง แล้วก้เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์นครหลวง ข้ามแม่น้ำสระพูมุ่งหน้าไปทางทิศอาคเนย์ออกจากเมืองราชคฤห์ได้ 4 เดือน “พอถึงเดือน 5 ออก 11 ค่ำ วันศุกร์ ก็จึงได้ไปถึงประเทศที่หนึ่งมีสัณฐานราบเปียงเรียงงาม มีแม่น้ำใหญ่ น้ำฮาม น้ำน้อยมากนัก ก็บ่พอไกลขรนที (แม่น้ำโขง) เท่าใดนัก แลมีน้ำห้วยน้อยอันจักสร้างไร่นาดีนัก แลเป็นแว่นแคว้นเมืองสุวรรณโคมคำเก่าอันร้างไปแล้วนั้น ในกาลนั้น มีแต่พวกลัวะ มิละขุ คือชาวป่าชาวดอยทั้งหลาย ยังอยู่ในซอกห้วยราวเขาภูดอยไคว่จุที่แล้ว และมีขุนหลวงผู้หนึ่ง นามว่า ปู่เจ้าลาวจก เป็นใหญ่แก่มิละขุทั้งหลายก็ยังอยู่ดอยดินแดงอันมีหนประจิมทิศประเทศนั้น และยามนั้นสิงหนวัติกุมารก็มารอดถึงที่หนึ่งหมดใสกว้างขวางนัก บ่ไกลแม่น้ำใหญ่ แม่น้ำฮาม แม่น้ำน้อยมากแล แลห่างจากแม่น้ำ ขรนทีนั้น 7,000 วา แลเมืองสุวรรณโคมคำเก่านั้น อยู่เบื้องฝ่ายแม่น้ำขรนทีก้ำหน้านั้นแล”

ในตำนานนั้นได้กล่าวอีกว่า “เมื่อนั้น ท่านก็ให้แปงปางจอดยั้งเยาอชัยอยู่ที่นั้น รอดเดือนสี่ ขึ้นหนึ่งค่ำ วันศุกร์ มหาศักราชขึ้นใหม่แถมตัวหนึ่งเป็น 18 ตัวปีล่วงเป้า วันนั้นยังมีพญานาคตัวหนึ่ง มีชื่อว่า “พันธุนาคราช” ก็มาเนรมิตตนเป็นพราหมณ์ผู้หนึ่ง แล้วเข้ามาสู่ที่แห่งเจ้าสิงหนวัติกุมาร แล้วกล่าวว่า “ดูกร เจ้ากุมารท่านนี้ เป็นลูกท้าวพระยามหากษัตริย์ หรือว่าเป็นลูกเศรษฐีหรือคหบดี กระฎุมพี แลว่าพ่อค้า อั้นจา ลูกบ้านใดเมืองใดมานั้นจาแลเจ้ากุมารเห็นว่ามีประโยชน์อันใดจา จึงมายั้งพักยังสถานที่นี้ ว่าอั้น ว่าดังนี้ เมื่อนั้นเจ้าสิงหนุวัติกุมาร กล่าวว่าดูกรท่านพราหมณ์ เรานี้หากเป็นลูกกษัตริย์ตนหนึ่ง ชื่อว่าเทวกาละ ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองราชคฤห์นครหลวงพุ้นแล เรามานี่เพื่อจักแสวงหาที่ควรสร้างบ้านตั้งเมืองอยู่แล ว่าอั้น เมื่อนั้นนาคพราหมณ์ก็ว่า ดีแท้แล ท่านจุ่งมาตั้งที่นี้ให้เป็นบ้านเมืองอยู่เทอะ จักวุฒิจำเริญดี จักบริบูรณ์ด้วยข้าวของราชสมบัติประการหนึ่ง ข้าศึกศัตรูทั้งหลาย เป็นต้นว่าศึกมหานครเมืองใหญ่ทั้งหลายจักมารบก็เป็นอันยาก เหตุว่าแม่น้ำใหญ่ สะเภาเลากาจักมาก็ไม่ถึง แต่ว่าขอให้มีสัจจะรักษายังข้าคนและสัตว์ทั้งหลายแด่เทอะ”

เมื่อนั้น เจ้าสิงหนวัติกุมารจึงกล่าวว่า “ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่านนี้อยู่ที่ใด อยู่บ้านเมืองใด และมีชื่อว่าดังฤา” นาคพราหมณ์ก็กล่าวว่า “ข้านี้มีชื่อว่าพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาประเทศที่นี่มาตั้งแต่ตระกูลเค้ามาแล ท่านจุ่งใช้สัปปรุริสะแห่งท่านไปตามดูที่อยู่แห่งข้าเทอะ ว่าอั้น” แล้วก็กล่าวอำลาเจ้าสิงหนวิตกุมารออกไปแล เจ้าสิงหนวัติกุมารจึ่งใช้ให้บ่าวแห่งท่านตามไปดู 7 คน ไปทางหนหรดี ไกลประมาณ 1,000 วา แล้วก้ลวดหายไปเสียแล เมื่อนั้นบ่าวทั้ง 7 คน จึงกลับคืนมาบอกแก่เจ้าแห่งเขา ตามดั่งที่ได้เห้นมานั้นทุกประการแล เจ้าสิงหนวัติกุมารได้ยินคำดังนั้นก็สลั่งใจอยู่แล ส่วนว่านาคพราหมณ์ผู้นั้นก็เอาเพศเป็นพญานาคดังเก่าแล้วก็ทวนบุ่นไปให้เป็นเซตคูเวียง กว้าง 3,000 วา รอดชุกน้ำ แล้วก็หนีไปสู่ที่อยู่แห่งตนในกลางคืนนั้นแล ครั้นรุ่งแจ้งแล้ว เจ้าสิงหนวัติกุมารเห็นเป็นประการฉันนั้นแล้ว ก็มีใจชื่นชมยิ่งนัก จึงให้หาพราหมณ์อาจารย์มา แล้วก็ตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้มาบอกให้แก่เรานั้น จักเป็นเทวบุตร เทวดา พระยาอินทร์พรหมดังฤา พราหมณ์อาจารย์จึงกล่าวว่า ตามดั่งข้าผู้เฒ่ามาพิจารณาดูนี้ คงจะเป็นพญานาคเป็นแน่แท้ เมื่อนั้นก็พร้อมกันเข้ายังเรือนหลวง แล้วตั้งหอเรืองบริบูรณ์แล้ว ก็เข้าอยู่เป็นเมืองใหญ่ แล้วพราหมณ์อาจารย์ผู้นั้นก็พิจารณาเอาชื่อพญานาคพันธุ์นั้น กับชื่อกุมารผู้เป็นเจ้านั้น ชื่อสิงหนวัตินั้นมาผสมกัน แล้วเรียกนามเมืองนั้นว่า เมืองพันธุสิงหนวัตินคร นั้นแล

เมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมารได้เป็นเจ้าเมืองพันธุสิงหนวัตินครแล้ว ได้มีอาชญาเรียกว่าเอาขุนหลวง มิลักขุทั้งหลาย ให้เข้ามาสู่สมภารแห่งพระองค์นั่นแล แต่นั้นไปภายหน้าได้ 3 ปี ยังมีเมืองอันหนึ่งอยู่หนหรดี ไกลประมาณ 4 คืนทาง มีข้างหัวกุกกะนที (แม่น้ำกก) ที่นั่น ชื่อว่าเมืองอุมงคเสลานคร เมืองนั้นเป็นที่อยู่ของชาวขอมทั้งหลาย และส่วนว่าเมืองขอมนี้ก็เป็นเมืองพร้อมกันกับเมืองสุวรรณโคมคำ แต่ครั้งสมัยศาสนาพระกัสสปะและยังไม่เคยเป็นเมืองร้างเลย พระยาขอมเจ้าเมืองอุมงคเสลานครนั้น มีมานะกระด้างไม่ยอมเข้าสู่บรมโพธิสมภารเจ้าสิงหนวัติ พระองค์จึงยกกำลังรี้พลไปรบเอาเมืองอุมงคเสลานครได้เข้าสู่บรมโพธิสมภารแต่นั้นมา มหาศักราชได้ 22 ตัว ปีดังไส้ ตั้งเมืองพันธุสิงหนวัตินครได้ 5 ปี ถึงปีนั้นท่านก็ปราบได้ล้านนาไทยทั้งมวลแล ฯ
เสนาอำมาตย์ พราหมณ์อาจารย์ ไพร่ไทยทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันราชาภิเษกยังเจ้าสิงหนวัติราชกุมารขึ้นเป็นเอกราชมหากษัตริย์ปราบล้านนาไทยทั้งมวล ขนานพระนามว่าเจ้าพระยาสิงหนวัติราชกษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา และเมืองนี้ก็บริบูรณ์ด้วยผู้คน ช้างม้าวัวควาย สมบัติมากนัก เกิดเป็นเมืองใหญ่แต่นั้นมา มีอาณาเขตดังนี้

ในทิศบูรพา มีแม่น้ำขรนทีเป็นแดน
ในทิศปัจฉิม มีดอยรูปช้างชุนน้ำย้อยมาหาแม่คงเป็นแดน
ในทิศอุดร มีต้าง (เขื่อน) หนองแสเป็นแดน
ในทิศทักษิณ มีลวะรัฐเป็นแดน

บ้านเมืองก็มีความสงบสุขร่มเย็นตลอดสมัยของพระเจ้าสิงหนวัติ พระองค์ครองราชสมบัติได้ 102 ปี มีอายุได้ 120 ปี (บางตำนานก็ว่าครองราชย์ได้ 52 ปี) ในภายหลังอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน ที่มีเมืองพันธุสิงหนวัตินครเป็นเมืองหลวงนั้น ตำนานได้กล่าวไว้ว่า ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องต่อกันมาประมาณกว่า 40 พระองค์ ซึ่งบางพระองค์ก็จะปรากฏพระนามในตำนานของการสร้างเมืองใหม่ หรือโบราณสถานที่ยังคงมีมาอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 เป็นผู้สร้างพระธาตุเจ้าดอยตุง โอรสองค์ที่สองของพระเจ้ามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 คือ พระองค์ไชยนารายณ์ เป็นผู้สร้างเวียงไชยนารายณ์ พระองค์เว่าหรือพระองค์เวา กษัตริย์องค์ที่ 10 เป็นผู้สร้างพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย เป็นต้น

รายนามกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
(จากพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร)
1. สิงหนกุมาร 2. คันธกุมาร 3. อชุตราช
4. มังรายนราช 5. พระองค์เชือง 6. พระองค์ชืน
7. พระองค์ดำ 8. พระองค์เกิง 9. พระองค์ชาติ
10. พระองค์เวา 11. พระองค์แวน 12. พระองค์แก้ว
13. พระองค์เงิน 14. พระองค์ตน 15. พระองค์งาม
16. พระองค์ลือ 17. พระองค์รวย 18. พระองค์เชิง
19. พระองค์กัง 20. พระองค์เกา 21. พระองค์พิง
22. พระองค์ศรี 23. พระองค์สม 24. พระองค์สวรรย์ (สวน)
25. พระองค์แพง 26. พระองค์พวน 27. พระองค์จักทร์
28. พระองค์ฟู 29. พระองค์ผัน 30. พระองค์วัง
31. พระมังสิงห์ 32. พระมังแสน 33. พระมังสม
34. พระองค์ทิพ 35. พระองค์กอง 36. พระองค์กม (กลม)
37. พระองค์ชาย (จาย) 38. พระองค์ชิน (จิน) 39. พระองค์ชม (จม)
40. พระองค์กัง (ปัง) 41. พระองค์กิง (พึง) 42. พระองค์เกียง (เปียง)
43. พระองค์พัง (พังคราช) 44. ทุกชิต 45. มหาวัน
46. มหาไชยชนะ

อาณาจักรโยนก ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนสมัยพระองค์มหาไชยชนะ อาณาจักรจึงได้ถึงกาลล่มจม ดังปรากฏในตำนานสิงหนวัติที่กล่าวว่า ได้มีชาวเมืองไปได้ปลาไหลเผือก บางตำนานก็ว่าปลา
มหากษัตริย์ พระองค์จึงให้ตัดเป็นท่อนแจกกันกินทั่วทั้งเวียง และในคืนนั้นก็ได้เกิดมีเหตุเสียงดังสนั่นเหมือนกับแผ่นดินไหวถึงสามครั้ง จนเป็นเหตุให้เมืองโยนกถล่มกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นน่าอัศจรรย์ที่ยังคงเหลือบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลา
นั้นจากชาวเมืองไปบริโภค ในปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวจึงได้มีผู้สันนิษฐานไปต่าง ๆ กัน บ้างก็สันนิษฐานว่าคือทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย) ในเขต
อำเภอเชียงแสน บ้างก็ว่าคือเวียงหนองล่ม (เวียงหนองหรือเมืองหนองก็ว่า) ในเขตอำเภอแม่จัน เนื่องจากมีชื่อสถานที่ต่าง ๆ ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่
ใกล้เคียงบริเวณนั้น เช่น บ้านแม่ลาก ก็หมายถึงตอนที่ชาวเมืองได้ช่วยกันลากปลาไหลตัวนั้น บ้านแม่ลัว (คงเลือนมาจากคำว่าคัว) ก็หมายถึงตอนที่ได้ชำแหละปลาไหลนั้นเพื่อแจกจ่ายกัน แม่น้ำกก หมายถึงตัดเป็นชิ้น ๆ ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้ปัจจุบันมีอยู่ในท้องที่ของอำเภอท่าข้าวเปลือก
อำเภอแม่จัน และยังมีผู้สันนิษฐานว่าคือหนองหลวง ในเขตอำเภอเวียงชัยอีกด้วย

หลังจากที่อาณาจักรโยนกได้ล่มสลายพร้อมด้วยราชวงศ์ดังกล่าวแล้ว ชาวเมือง จึงได้ปรึกษากันพร้อมใจกันยกให้ขุนลัง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาเป็นผู้
ปกครองแทนราชวงศ์ และได้มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชื่อ เวียงปรึกษา (เวียงเปิ๊กษา) ซึ่งเมืองใหม่นี้ ว่ากันว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย เนื่องจากผู้นำได้มาจากการประชุมปรึกษาหารือกันคล้ายระบบการเลือกตั้งจึงเป็นที่มาของชื่อเวียงปรึกษา เวียงปรึกษาได้มีผู้ปกครองสืบต่อกันมา 15 คน
เป็นระยะเวลา 93 ปี
ยุคหิรัญนครเงินยาง
ในยุคนี้ได้กล่าวถึงลวจังกราชหรือลวจักกราช ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ ซึ่งในหลักฐานบางฉบับเรียกว่า ราชวงศ์ลาว เนื่องจากพระนามของกษัตริย์ใน
ราชวงศ์นี้ล้วนขึ้นต้นด้วยคำว่า “ลาว” มีอำนาจอยู่ในเมืองเชียงลาว (เชียงเรือน) สันนิษฐานว่าอยู่ใกล้บริเวณดอยตุงและแม่น้ำสาย ต่อมาได้ขยายจากเมืองเชียงลาวมาสู่เมืองเงินยางหรือเงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าเมืองเงินยางนี้อยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสน หรืออาจเป็น
บริเวณเดียวกันก็เป็นได้ เมืองเงินยางมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “หิรัญนคร” อันเป็นที่มาและเรียกชื่อเมืองนี้ว่า หิรัญนครเงินยาง
ลวจังกราช (ลาวจง) มีราชบุตร 3 พระองค์ คือ ลาวครอบ ลาวช้าง และลาวเก๊าแก้วมาเมือง ลวจังกราชได้ส่งราชบุตรออกไปสร้างบ้านแปงเมือง คือ ให้ลาวครอบราชบุตรองค์โตไปครองเมืองเชียงของ ลาวช้างราชบุตรองค์ที่สองไปครองเมืองยอง ส่วนลาวเก๊าแก้วมาเมือง ราชบุตรองค์เล็กนี้ให้ครอง
เมืองเชียงลาวสืบเนื่องมา ด้วยเหตุนี้ภายหลังจึงทำให้ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) เป็นต้นของราชวงศ์เมืองต่าง ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ จนถึงสมัยพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงรายแล้ว พบว่าเจ้าเมืองต่าง ๆ ได้มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกัน จึงมีพระราโชบายรวบรวมให้เป็น
ปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

รายนามกษัตริย์ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช หรือวงศ์หิรัญนคร)
1 ลาวจังกราช (ลาวจง)
2 ลาวเก๊าแก้วมาเมือง
3 ลาวเส้า (ลาวเสา)
4 ลาวตัง (ลาวพัง)
5 ลาวกลม (ลาวหลวง)
6 ลาวเหลว
7 ลาวกับ
8 ลาวคิม (ลาวกิน)
9 ลาวเคียง
10 ลาวคิว
11 ลาวเทิง (ลาวติง)
12 ลาวทึง (ลาวเติง)
13 ลาวคน
14 ลาวสม
15 ลาวกิว (ลาวกวิน)
17 ลาวจง
18 จอมผาเรือง
19 ลาวเจิง (ลาวเจื๋อง)
20 ลาวเงินเรือง
21 ลาวซิน (ลาวชื่น)
22 ลาวมิง
23 ลาวเมือง (ลาวเมิง)
24 ลาวเมง


ลาวจงมีราชบุตร 2 พระองค์ องค์พี่ชื่อ ลาวชิน ได้ให้ปกครองเมืองไชยนารายณ์ ส่วนผู้น้องชื่อจอมผาเรืองนั้น ให้ครองเมืองเชียงลาวต่อมา จอมผาเรือง
(ลาวจอมเรือง) มีราชบุตรชื่อลาวเจื่อง (ขุนเจื่อง) ลาวเจื่องได้ครองเมืองเชียงลาวอยู่ระยะหนึ่ง และได้แผ่ขยายอาณาเขตไปถึงเมืองของพระยาแก๋ว แล้ว
ได้อยู่ครองหลายเมือง ส่วนทางเมืองเงินยาง (เชียงลาว) นั้น ได้ให้ลาวเงินเรืองราชบุตรปกครองแทน และในสมัยของลาวเจื่องนี้ได้ให้ราชบุตรอีกหลาย
พระองค์ไปครองยังเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองล้านช้าง เมืองน่าน เป็นต้น อันเป็นการกระจายราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ อีกสมัยหนึ่ง
มาจนถึงสมัยลาวเมง ลาวเมืองพระบิดาได้สู่ขอนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือนางเทพคำขยาย ธิดาท้าวรุ้งแก่นชาย เจ้านครเชียงรุ้ง เมืองใหญ่แว่นแคว้น
สิบสองปันนา มาอภิเษกเป็นชายาเจ้าลาวเมง ครั้นภายหลังอภิเษกแล้วไม่นานเท่าใด นางเทพคำขยายก็ทรงมีครรภ์แล้วประสูติพระราชโอรส เมื่อ
พ.ศ. 1782 ทรงพระนามว่า “เจ้ามังราย”

อาณาจักรหิรัญนครเงินยาง (เชียงลาว หรือเชียงเรือง หรือหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ก็เรียก) นั้น เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันในราชวงศ์ลวจังกราชมาหลายพระองค์ มาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการสร้างเมืองใหญ่ขึ้นที่เชียงราย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น นับแต่การสร้างเมืองเชียงรายเป็นต้นมา
ยุคเชียงราย (มังราย)

พญามังราย ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อ พ.ศ. 1802 ในขณะมีพระชนม์ได้ 20 ปี พระองค์จึงได้ให้พระยามหานครทั้งหลายไปถวาย
บังคม เมืองใดขัดแข็งมิยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี ก็แต่งกองทัพยกออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียงคำ ได้ปลดเจ้าผู้ครองนครออกแล้วแต่งตั้งให้ขุนนางอยู่รั้งเมืองเหล่านั้น แต่นั้นหัวเมืองทั้งหลาย มีเมืองเชียงช้าง เป็นต้น ก็พากันอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น
เมื่อรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว คิดจะปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ จึงได้ลงไปอยู่ที่เมืองหนึ่งชื่อเมืองว่า เวียงเต่ารอง เผอิญช้างมงคลของพญามังรายได้พลัดไป พญามังรายเสด็จตามช้างไปถึงยอดจอมทองริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิดี จึงให้สร้างพระนครไว้ ณ ที่นั้นก่อปราการโอบล้อมเอาดอยจอมทองไว้
ในท่ามกลางเมือง ขนานนามว่า เมืองเชียงราย ใน พ.ศ. 1805แล้วพญามังรายก็ยกจากเมืองหิรัญนครเงินยางขึ้นมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงรายในปีเดียวกันนี้ยัง
ได้ตีเมืองเชียงตุงอีกด้วย ถัดมาอีก 3 ปี พญามังรายได้เสด็จจากเมืองเชียงรายไปประทับอยู่ที่เมืองฝาง (เวียงไชยปราการ) โดยมีพระราชประสงค์ที่จะแผ่ขยาย
อาณาเขตไปทางล้านนา หลังจากนั้น 1 ปี ก้ได้ยกทัพไปตีเมืองผาแดง เชียงจอง ตีได้เมืองเชียงจองแล้วก็กลับประทับที่เมืองฝางอีก ต่อมาราว 6 ปี
ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชิง แล้วกลับมาประทับ ณ เมืองฝางดังเก่า

เมืองฝางที่พญามังรายประทับอยู่ติดต่อกับแคว้นล้านนาพ่อค้าวานิชชาวเมืองหริภุญไชยไปมาที่เมืองฝางเป็นอันมาก พญามังรายทราบว่าเมืองหริภุญไชย
เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ ก็อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงทรงให้ อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญไชย แล้วจึงสามารถตีเมืองหริภุญไชยจากพระยายีบา
ได้ในเวลาต่อมา รวมทั้งตีได้เมืองเขลางค์จากพระยาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์ ซึ่งเป็นน้องของพระยายีบาในภายหลังอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 1818 พญามังรายได้ให้ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อ ขุนเครื่อง มาครองเมืองเชียงราย ขุนเครื่องได้เชื่อถ้อยคำขุนใสเรียงคิดการกบฎ พญามังรายจังได้ออกอุบายให้ขุนเครื่องไปเฝ้ายังเมืองฝาง แล้วให้อ้ายเผียนซุ่มริมทางดักยิงด้วยหน้าไม้ปืนผา (หน้าไม้ที่อาบยาพิษ) ถูกขุนเครื่องตาย พญามังรายจึงได้กลับมาครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองเชียงรายอีกครั้ง

พ.ศ. 1819 พญามังรายได้ยกกองทัพบงไปตีเมืองพะเยา พระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาเห็นว่าสู้ด้วยกำลังมิได้ จึงยกกองทัพออกไปรับปลายแดน ต้อนรับ
อย่างไมตรี แล้วยกตำบลปากน้ำให้แก่พญามังราย พญามังรายก็รับปฏิญาณเป็นมิตรกัน ต่อมาได้ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระยาหงสาวดีสุทธโสม เจ้าเมือง
จึงได้ยกนางปายโค พระธิดา ให้เป็นราชธิดา เพื่อขอเป็นพระราชไมตรี ในภายหลังได้ยกกองทัพไปตีเมืองพุกามอังวะ เจ้าเมืองอังวะได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการมาถวายต้อนรับขอพระราชไมตรีด้วย ในครั้งนี้ได้นำเอาช่างต่าง ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างคำ ช่างทอง กลับมาเผยแพร่อีกด้วย พร้อมทั้งได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลตามแบบอย่างของอังวะ

ในปี พ.ศ. 1839 พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ และขนานนามเมืองว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” พระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
ตราบจนสวรรคต ขณะเสด็จประพาสกลางเมืองเมื่อ พ.ศ. 1860 ส่วนเมืองเชียงรายนั้นได้ให้ขุนครามมาครองเมืองแทน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองเชียงราย
เริ่มลดบทบาทลง และในขณะเดียวกัน เมืองเชียงใหม่ก็ได้เริ่มมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและ
รุ่งเรืองอย่างสูงสุดในสมัยของพญามังราย
เมื่อพญามังรายสวรรคต พระยาไชยสงคราม (ขุนคราม) ราชโอรส จึงครองเมืองเชียงรายต่อมา และสถาปนาให้พระยาแสนภู โอรสองค์ใหญ่ไปครองเมือง
เชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1861 ใน พ.ศ. 1870 พระยาไชยสงครามถึงแก่ทิวงคต พระยาแสนภูได้ให้เจ้าคำฟูราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ แล้วพระองค์ได
้กลับมาครองเมืองเชียงราย

รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 1871 พระยาแสนภูมีพระราชประสงค์จะสร้างพระนครอยู่ใหม่ต้องการชัยภูมิที่ดี ขุนนางได้สำรวจหาได้ที่เมืองเก่าริมแม่น้ำโขง อันเป็นเมืองโบราณของเวียงไชยบุรีจึงโปรดให้สร้างนครใหม่ขึ้นที่นั้น เอาแม่น้ำโขงเป็นคูปราการเมืองด้านตะวันออกอีก 3 ด้าน ให้ขุดโอบล้อมพระนครไว้ ตั้งพิธีฝังหลักเมืองวันศุกร์ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 1871 ขนานนามว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน (ตามพระนามของพระองค์) แต่คนต่อมาภายหลังเรียกว่า เชียงแสน คืออำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ซึ่งยังมีซากกำแพงเมืองปรากฏอยู่
พระยาแสนภู ครองอยู่เมืองเชียงแสนได้ 7 ปี ก็ได้ถึงแก่ทิวงคต พระยาคำฟู ราชโอรสจึงได้ครองเมืองเชียงแสนต่อมา พระยาคำฟูจึงได้ให้ท้ายผายูราชโอรส
ไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระยาคำฟูถึงแก่ทิวงคต ท้ายผายู ราชโอรส ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่อยู่ก็ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา แล้วให้ท้าวกือนา
(ตื้อนา) ราชโอรส มาครองเมืองเชียงรายแทน นับแต่นั้นมาเมืองเชียงราย (รวมทั้งเชียงแสนด้วย) ได้เริ่มมีฐานะคล้ายเมืองลูกหลวง โดยมีเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังคงมีเชื้อพระวงศ์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ สุดท้ายในสมัยพระยากลม เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน โดยมีพระเจ้าเมกุฏครองเมืองเชียงใหม่
ใน พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่และเชียงแสนก็เสียให้แก่บุเรงนอง เจ้ากรุงหงสาวดี อาณาจักรล้านนา (รวมทั้งเชียงรายและเชียงแสนด้วย)

จึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่นั้นมา แต่มีบางครั้งก็เป็นอิสระและบางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา รวมเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับ 200 ป
จนถึงสมัยธนบุรี แม้ว่าบางสมัยจะมีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากพม่าแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในระยะหนึ่งพม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนให้เป็น
เมืองเอกในการปกครอง เนื่องจากต้องการให้เป็นหัวเมืองเพื่อป้องกันการรุกรานจากรุงศรีอยุธยา และยังษมารถใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียง
ในยามศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต

ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพมาปราบปรามขับไล่ข้าศึกพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ไม่สำเร็จเด็ดขาด ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มหาราช แห่งราชวงศ์จักรี พ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ ให้เผาเมืองเสียสิ้น กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมือง 23,000 ครอบครัว แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ นครลำปาง นครน่าน เมืองเวียงจันทน์ และลงมายังกรุงเทพฯ บางส่วนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ เมืองสระบุรี เมืองราชบุรี บ้าง

หลังจากที่ได้กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมืองให้ไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ แล้ว เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง จึงทำให้นับแต่นั้นมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองเชียงแสนได้ขาดหายไประยะหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วมักจะกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของล้านนาในยุคนั้น โดยมีตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครอง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการทำศึกสงครามกับพม่า บางครั้งก็ถูกพม่ารุกราน บางครั้งก็ยกทัพไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่าและกวาดต้อนเอาผู้คนลงมาด้วย อันได้แก่ พวกไทยใหญ่ ไทยเขิน เป็นต้น
พ.ศ. 2386 ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการจัดตั้งเมืองเชียงรายฟื้นคืนให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ป้องกันภัยจากพม่าโดยมีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ให้ญาติพี่น้อง อันมีเจ้าหลวงธรรมลังการเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสามเจ้าพูเกี๋ยง เป็นพระยาราชบุตร
และพระยาบุรีรัตน์ มีราษฎรที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองขึ้นของพม่า ในสมัย “เก็บผักใสซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พร้อมด้วยพ่อค้าที่เป็นคนพื้นเมืองของไพร่เมือง
4 เมือง คือ เมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ประมาณ 1,000 ครอบครัวขึ้นมาตั้งสร้างบ้านเมือง เมืองเชียงรายในยุคนี้ได้มีการก่อกำแพง
สร้างประตูเมืองต่าง ๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เคยเป็นเมืองเก่ามาแต่สมัยพญามังรายให้เป็นเมือง “พันธุมติรัตนอาณาเขต” มีสะดือเมืองอยู่ที่วัดจันทโลก
(ปัจจุบันคือวัดกลางเวียง) ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่มีชื่อว่า เมืองรัตตนติงสาวภิวนบุรี การปกครองเมืองเชียงรายในฐานะเป็นเมืองบริวารของเมือง
เชียงใหม่ในสมัยนี้ เป็นยุคที่เรียกว่า เจ้าขัน 5 ใบ ซึ่งเป็นเชื้อสายในตระกูลเจ้าเจ็ดตนที่ได้รับการแต่งตั้งจากเมืองเชียงใหม่มาเป็นคณะปกครอง
เมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง (มีฐานะเป็นเจ้าเมือง) และผู้ช่วยอีก 4 ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร พระยาบุรีรัตน์

พ.ศ. 2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่า พม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงตุง ประมาณ 300 ครอบครัว มาอยู่เมืองเชียงแสนตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย จึงให้อุปราชแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากราชอาณาจักร ถ้าอยากจะตั้งอยู่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่เกณฑ์กำลังจากเชียงใหม่ นครลำปาก เมืองลำพูน มีไพร่ทั้งสิ้น 4,500 คน ยกจากเชียงใหม่มาเชียงรายและเชียงแสน ไล่ต้อนพวกนั้น
ออกจากเชียงแสน จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2423 จึงได้ให้ เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องของเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน เป็นหัวหน้า นำราษฎรเมืองลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก “ปักซั้งตั้งถิ่น” อยู่เมือง
เชียงแสน นับเป็นการ สร้างบ้านแปงเมือง ครั้งใหญ่ของเมืองเชียงแสน กลุ่มที่อพยพมารุ่นแรกได้มาตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่เรียงรายตามลำแม่น้ำแม่คำ
ตั้งแต่บ้านแม่คำ บ้านห้วยน้ำราก จนถึงเขตเชียงแสน ตลอดถึงบ้านกว๊านบุญเรือง ในเขตประเทศลาวปัจจุบัน

ต่อมา เจ้าอินต๊ะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงแสน สมัยนั้นการปกครองล้านนาเฉพาะมณฑลพายัพเหนือ มีเจ้าเมืองบริเวณหัวเมืองมี 5 ชื่อ ประจำเมืองต่าง ๆ คือ
พระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพะเยา
พระยามหิทธิวงศา เจ้าเมืองฝาง
พระยารัตนเขตต์ เจ้าเมืองเชียงราย
พระยาราชเดชดำรง เจ้าเมืองเชียงแสน
พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี เจ้าเมืองเชียงของ

ใน พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ พระศรีสหเทพ (เส็ง วิริยสิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพใหม่ เมืองใหญ่มี
เก๊าสนามหลวง เป็นศูนย์กลางจัดให้มีแคว่นแก่บ้าน (กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน) แต่ละแคว่นขึ้นกับเมือง เรียกผู้ปกครองเมืองว่า เจ้าเมือง เมืองขึ้นกับ บริเวณ
เรียกผู้เป็นหัวหน้าว่า ข้าหลวงบริเวณ ข้าหลวงบริเวณขึ้นต่อเก๊าสนามหลวง โดยได้จัดทำขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ ตั้งนครเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล และเมืองเชียงแสนสมัยนั้นขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม ต่อมา พ.ศ. 2453 ตรงกับ ร.ศ. 129 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย
ยกเมืองเชียงราย เป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลพายัพ ดังต่อไปนี้

ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นหัวเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ

มีพระราชดองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วหน้ากันว่า แต่เดิมเมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้
อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดพายัพภาคเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุ
ให้เห็นว่า การจัดให้เป็นเมือง ไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรเลื่อนการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องถิ่น จึงทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอ
เชียงของ ตั้งเป็นเมืองจัตวาเรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเมือง
เชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ เหมือนอย่างหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นกับกรุงเทพฯทั้งปวง และพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพภาคเหนือ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป





ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประกาศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 129
(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
มีตราประจำเมืองเป็น รูปหนุมาน (หอระมาน)
ดวงตราประจำเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต คือเมืองเชียงรายในอดีต ที่แปลมาตรงกับตัวอักษรล้านนา(ตัวเมือง) ในดวงตรานั้น ส่วนอักษรไทยข้างล่างเขียนว่า เมืองพันธุมติอะณาเขรษ เป็นการสะกดผิด เนื่องจากการทำตราต่าง ๆ ในสมัยนั้นต้องส่งไปทำต่างประเทศที่ใกล้ที่สุด คือประเทศอินเดีย ชื่อเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขตเลยต้องใช้อย่างนั้นมา แต่คนเชียงรายในสมัยนั้นอ่านภาษาไทย(กลาง)ไม่ออก

สภาพบ้านเมืองในยุคพันธุมติรัตนอาณาเขตนั้น ได้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับกบฎเงี้ยว ซึ่งได้เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นผลมาจากยุคการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนพม่าและลาว และต่อมาได้มีการยุยงสนับสนุนให้เงี้ยวก่อความ
ไม่สงบขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อที่จะขยายอิทธิพลเข้ามายังล้านนา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยแล้ว แต่ทางการก็สามารถปราบปรามลงได้
ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต ได้มีการพัฒนารูปแบบการปกครองจากหัวเมืองที่มีเจ้าเมืองครองมาจนถึง พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) จึงได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล อันเป็นต้นแบบมาสู่การปรับปรุงพัฒนามาสู่ในยุคปัจจุบันที่มีฐานะเป็นจังหวัด
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ




ความสัมพันธ์กับอาณาจักรต่าง ๆ

นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ลวจังกราช ได้ให้พระโอรสไปสร้างและครองเมืองต่าง ๆ จึงทำให้มีการกระจายเชื้อพระวงศ์ออกไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วย อันเป็นการขยายอาณาเขตในลักษณะหนึ่งมาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นศูนย์กลาง เมื่อมีความเป็นปึกแผ่นแล้ว ต่อมาจึงได้ขยายลงมาสร้างเมืองเชียงราย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการแผ่ขยายอาณาเขตต่อไปยังอาณาจักรอื่น ๆ รวมทั้งการมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง อาณาจักรต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่

อาณาจักรหริภุญไชย

อาณาจักรหริภุญไชยได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยการสร้างเมืองเชียงราย โดยเป็นศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ซึ่งตำนานจามเทวีได้กล่าวว่าฤาษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้น เมื่อราว พ.ศ. 1310 - 1311 หลังจากที่ได้สร้างเสร็จแล้ว จึงได้ทูลเชิญพระนางจามเทวี ธิดาของกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมือง จึงทำให้วัฒนธรรมของละโว้แพร่ขยายมายังอาณาจักรหริภุญไชยด้วย
ด้วยเหตุอาณาจักรหริภุญไชยมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งสมบูรณ์ พญามังรายมีพระประสงค์อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงได้ใช้กลอุบายให้อ้ายฟ้าเข้าไปเป็นไส้ศึก วางแผนให้เกิดความแตกแยกกันในอาณาจักร ในภายหลัง กองทัพของพญามังรายจึงเข้ายึดอาณาจักรหริภุญไชยจากพระยายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยไว้ในอำนาจได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 1835 และได้ผนวกหริภุญไชยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อาณาจักรสุโขทัย
หลังจากที่พญามังรายได้แผ่ขยายอาณาเขตและรวบรวมบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนเป็นที่มาของ อาณาจักรล้านนา แล้ว จึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่หรือ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ขึ้นใน พ.ศ. 1839 เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ในการสร้างเมืองนั้น พระองค์ทรงได้ทูลเชิญพ่อขุนรามคำแหงจากกรุงสุโขทัยและพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาซึ่งเป็นพระสหาย ให้เสด็จมาช่วยเลือกชัยภูมิการสร้างเมือง จึงเห็นได้ว่าอาณาจักรเหล่านี้มีสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างแนบแน่น ในตำราราชวงศ์ปกรณ์กล่าวว่า กษัตริย์ทั้งสามได้ตั้งสัจจะปฏิญาณต่อกัน โดยนั่งหลังพิงกัน
ที่ฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วเอามีดมาแทงมือกันทุกคน เอาเลือดใส่แพ่งฝา สู่กันกิน ให้เป็นมิตรสนิทต่อกันทุกพระองค์ ต่อมาแม่น้ำขุนภูจึงเรียกว่า แม่น้ำอิง ในปัจจุบันนี้ได้มีอนุสรณ์สถานคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลากลาง (เก่า) จังหวัดเชียงใหม่

อาณาจักรล้านนา
สมัยหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรล้านนามีความเป็นมาหลังจากที่พญามังรายได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ อันมีเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกันจนเป็นปึกแผ่นในอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง ต่อมาได้ตีอาณาจักรหริภุญไชยแล้วผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรด้วย นับเป็นการเริ่มต้นของอาณาจักรใหม่ ที่ต่อมาเรียกว่า อาณาจักรล้านนา ภายหลังได้มีการย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรไปอยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ทำให้เมืองเชียงรายซึ่งเดิมนั้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรหิรัญนครเงินยางได้ลดความสำคัญลงไปในระยะหลัง ๆ
สมัยรัตนโกสินทร์ อาณาจักรล้านนาได้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามกับพม่า โดยนำกำลังร่วมกับกองทัพทางกรุงเทพฯ ทำสงครามกับพม่าในระหว่าง
พ.ศ. 2312 - 2347 สงครามในระยะดังกล่าวนี้ได้เกิดลัทธิ เก็บผ้าใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากเมืองเชียงตุง สิบสองปันนา ฯลฯ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านั้นส่วนใหญ่ ได้แก่ ชาวไทยใหญ่ ชาวไทยลื้อ และชาวไทยเขิน ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกับชาวไทยโยนกของอาณาจักร
ล้านนา แล้วมาไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมานั้นได้เอาศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วย เช่น การทำเครื่องเขิน แกงฮังเล น้ำพริกอ่องของชาวไทยเขิน ขนมจีนน้ำเงี้ยวของชาวไทยใหญ่ การทอผ้าของชาวไทยลื้อ เป็นต้น
ในปัจจุบัน กลุ่มชาวไทยลื้อหรือชาวไทยเขิน มีถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงราย และจังหวัดในภาคเหนือ และได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆไว้อย่างมาก เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกิน งานหัตถกรรม เป็นต้น

ประของจังหวัดเชียงราย

ประวัติจังหวัดเชียงราย

ที่ตั้ง
อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ในภาคเหนือตอนบนห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 785 กม.

พื้นที่
11,678.369 ตร.กม.

อาณาเขต
ทิศเหนือ -ประเทศพม่า และลาว
ทิศใต้ -จ. ลำปาง และ จ. พะเยา
ทิศตะวันออก -ประเทศลาว
ทิศตะวันตก -จ. เชียงใหม่และประเทศพม่า

แม่น้ำ แม่น้ำสำคัญมีดังนี้
แม่น้ำกก มีความยาวตลอดสาย 145 กม.
แม่น้ำโขง มีความยาวตลอดสาย 94 กม.
แม่น้ำอิง มีความยาวตลอดสาย 100 กม.
แม่น้ำคำ มีความยายตลอดสาย 85 กม.
แม่น้ำลาว มึความยาวตลอดสาย 117 กม.
แม่น้ำสาย เป้นแม่น้ำสารวั้น ๆ ไหลผ่าน อ. แม่สายแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและพม่า
แม่น้ำรวก เป็นแม่น้ำสายสั้นที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบรวก อ. เชียงแสน

ภูมิอากาศ แบ่งเป็นสามฤดู
ฤดูร้อน -กลางเดือนมี.ค ถึงกลางเดือน พ.ค. อุณหภูมิสูงสุดที่เคยวัดได้คือ 41.3 ซ. อากาศอบอ้าวและแห้งแล้ง อาจมีพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย
ฤดูฝน -กลางเดือน พ.ค. ถึงกลางเดือน ต.ค. มีฝนตกชุกในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย. มีพายุหมุนเขตร้อนพัดเข้ามาสู่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งทำให้ฝนตกชุกมากกว่าปกติหรือเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ฤดูหนาว -กลางเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน ก.พ. เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 4 เดือน อากาศหนาวจัดในช่วงเดือน ธ.ค. และ ม.ค. โดยเฉพาะในเขตเทือกเขา อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้ คือ 1.5 ซ.

การปกครอง แบ่งออกเป็น 16 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อ. เมือง อ. เชียงของ อ. เวียงป่าเป้า อ. เทิง อ. ป่าแดด อ. พาน อ. เวียงชัย อ. แม่จัน
อ. เชียงแสน อ.แม่สาย อ. แม่สรวย อ. พญาเม็งราย อ. เวียงแก่น อ. ขุนตาล อ. แม่ฟ้าหลวง อ. แม่ลาว กิ่ง อ. เวียงเขียงรุ่ง และกิ่ง อ. ดอยหลวง



คำขวัญประจำจังหวัด เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา

ดวงตราประจำจังหวัด รูปช้างสีขาว

ดอกไม้ประจำจังหวัด พวงแสด

ต้นไม้ประจำจังหวัด กาสะลองคำหรือปีบทอง


กลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย

พื้นที่ของ จังหวัดเชียงรายมีกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ทั้งตามที่ราบและบนดอยสูง ซึ่งชนแต่ละกลุ่มจะมีศาสนา ประเพณี และ วัฒนธรรมแตกต่างกันไปตามแต่วิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้ปฎิบัติสืบทอดกันมา โดยประชากรในเชียงรายสามารถจำแนกออกเป็นชนชาติต่าง ๆ ดังนี้

คนเมือง เป็นกลุ่มชนใหญ่ที่สุด ในอดีตถูกเรียกว่าไทยวน หรือลาวพุงดำ ผู้ชายมีรูปร่างโปร่งบางกว่าคนไทยภาคกลางเล็กน้อย ส่วนผู้หญิงมีรูปร่าง ผิวพรรณ และหน้าตางดงาม ชาวไทยมีภาษาพูดต่างไปจากไทยภาค กลางเล็กน้อย และมีตัวหนังสือเฉพาะ แต่ปัจจุบันได้ทันมาใช้ภาษาไทยกลางแทน อาศัยอยู่ในชาวบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง หน้าจั่วมีไม้ไขว้สลักลวดลายเรียกว่า กาแล ชาวไทยวนส่วนมากประกอบอาชีพทำการเกษตร และก็มีฝีมือทางการช่างและการหัตถกรรม
ไทลื้อ เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม แม่น้ำโชง และตอนกลางของแขวงไขยบุรีในลาว
ไทเขิน เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำขิ่น รัฐฉานของพม่า แล้วอพยพเข้ามาอาศัยอยู่บิรเวรดอยแม่สลองชื่อไทยเชินเพี้ยนมาจากไทขึนหรือไทขิ่นนั่นเอง
ไทใหญ่ เรียกตัวเองว่าไต ส่วนคนเมืองเรียกว่า เงี้ยวและชาวพม่าเรียกว่า ฉาน เพราะมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในรัฐฉาน ผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนไทยภาคกลาง ผู้หญิงมีผิวคล้ำกว่าชาวพม่ามีภาษาพูดแตกต่างจากคนเมืองและไทยภาคกลางเล็กน้อย แต่มีภาษาเขียนของตนเอง ชาวไทใหญ่ทำนา ทำไร่ และค้าขาย มีฝีมือทางหัตถกรรม ได้แก่ ทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา และแกะสลัก
อีก้อ เรียกตัวเองว่าอาข่า รูปร่างเล็กแต่แข็งแรงล่ำสันผิวสีน้ำตาลอ่อน หยาบกร้าน มีภาษาพูดคล้ายภาษามูเซอและลีซอไม่มีตัวอักษรใช้ ผู้หญิงนิยมไว้ผมยาวแต่รวบผมไว้ แล้วใส่หมวกทับ คอสวมเครื่องประดับ ใส่เสื้อผ้าสีดำ ผู้ชายโกนหัวไว้ผมเปีย ชาวอาข่านิยมตั้งบ้านเรือนอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1200 ม.ขึ้นไปยังชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย อาข่านับถือผี มีเสาชิงช้าและลานสาวกอดอยู่หน้าหมู่บ้าน
มูเซอ เรียกตัวเองว่าลาหู่ มีรูปร่างสันทัด ผิวสีน้ำตาลอ่อน ชอบกินหมาก มีภาษาพูดเฉพาะ แต่ไม่มีตัวอักษรใช้ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่มตามลักษณะการแต่งกายของผู้หญิง ชาวมูเซออาศัยบนภูเขาสูงอยู่ในบ้านยกพื้นสูง ยังชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และเป็นชนเผ่าที่ชำนาญการล่าสัตว์เป็นอย่างมาก
เย้า เรียกตัวเองว่าเมี่ยน รูปร่างและผิวพรรณคล้ายคลึงกับคนจีนมาก ความสูงโดยเฉลี่ยจะเท่ากับคนไทยทั่วไป มีนิสัยขยันขันแข็งและทรหดอดทน มีภาษาจีนเช่นกัน ไม่มีตัวอักษรใช้ต้องยืมอักษรจีนมาใช้เขียนเป็นของตนเองและอ่านออกเสียงเป็นภาษาเย้า ชาวเย้ามักตั้งบ้านเรือนอยู่บนไหล่เขา ทำไร่ข้างโพด ตีเหล็ก เย็บปักถักร้อย และทำเครื่องเงิน
กะเหรี่ยง ผู้ชายรูปร่างสันทัด แข็งแรง ส่ำสัน ช่วงเขาใหญ่ ชาวกะเหรี่ยงแบ่งย่อยออกไปหลายเผ่า ภาษามีความใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจกันได้ ชาวกะเหรี่ยงมักตั้งบ้านเรือนแบบถาวร อาศัยการทำนาและปลูกพืชไร่ มีทั้งที่ยังนับถือผี และหันมานับถือศาสนาพุทธและคริสต์
ลีซอ เป็นชนเผ่าที่มีสีผิวขาวกว่าเผ่าอื่น หน้าตากว้างกลม มีภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน ผู้หญิงนิยมเกล้ามวยไว้ท้ายทอย เวลามีงานพิธีจะโพกหัวและสวมห่วงเงินไว้ที่คอ ชาวลีซอนิยมตั้งบ้านเรือนในที่สูงกว่าอีก้อและมูเซอ ยังชีพด้วยการปลูกข้าวโพด และชำนาญทางล่าสัตว์
แม้ว เรียกตัวเองว่าม้ง ท่าทางและลักษณะการพูดจะคล้ายคนจีน ผู้ชายค่อนข้างสูง ผู้หญิงรูปร่างสมส่วน ม้งไม่มีภาษาพูดที่แน่นอน ส่วนใหญ่ยืมภาษาอื่นมาใช้ บ้านม้งสร้างติดดินบนภูเขาสูง โดยยึดอาชีพทำไรข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ตีเครื่องเงินและเย็บปักถักร้อย ส่วนใหญ่นับถือผี แต่ก็มีผู้หันมานับถือศาสนาพุทธและคริสต์อยู่บ้าง
จีนฮ่อ เป็นกลุ่มชนชาวจีนที่เป็นอดีตทหารกองพลที่ได้หลบหนีการปราบปรามของจีนคอมมิวนิสต์ผ่านทางพม่าเข้ามายังประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2493-2499 มีวัฒนธรรมของตนเองใช้พาษาจีนกลางแชะกวางตุ้ง ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่บนเขตพื้นที่เขาของ จ. เชียงราย โดยเฉพาะบนดอยแม่สลองประกอบอาชีพหลักด้วยการทำการเกษตรและค้าขาย นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ ลัทธิขงจื้อ และศาสนาอิสลาม